บทบาทในการก่อโรค ของ Clostridium tetani

ภาพวาดแสดงชายมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งร่างกายจากบาดทะยัก ภาพเขียนสีโดยชาลส์ เบลล์ เมื่อปี 1809

ในขณะที่ C. tetani มักไม่ก่อโรคเมื่ออยู่ในดินหรือในทางเดินอาหารของสัตว์ต่าง ๆ บางครั้งมันอาจก่อโรคที่รุนแรงอย่างบาดทะยัก โรคบาดทะยักมักเริ่มต้นเกิดจากการที่สปอร์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางแผล[5] ในกรณีที่เป็นแผลลึก เช่นจากการถูกของมีคมเจาะหรือการถูกเข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อฉีด ประกอบกับการเกิดเนื้อเยื่อตายและการที่พื้นผิวของแผลสัมผัสกับอากาศลดลง เมื่อประกอบกันแล้วจะทำให้เกิดสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ เอื้อให้สปอร์ของเชื้อ C. tetani สามารถแตกหน่อออกมาและเจริญเติบโตได้[2] ในขณะที่ C. tetani กำลังเติบโตที่จุดที่เป็นแผล มันจะหลั่งสารพิษ เททาโนไลซิน และ เททาโนสปาสมิน ออกมาขณะที่เซลล์แตก[1] หน้าที่ของเททาโนไลซินนั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ถึงแม้ว่าเป็นไปได้ว่ามันอาจช่วยให้ C. tetani สามารถเกิดการติดเชื้อได้ภายในแผล[6][1] ส่วนเททาโนสปาสมิน ("สารพิษเททานัส") เป็นหนึ่งในสารพิษที่ออกฤทธิ์รุนแรงที่สุดที่เคยมีการบันทึกมา ด้วยค่าประมาณโดสถึงแก่ชีวิตที่ต่ำกว่า 2.5 นาโนกรัม ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักกาย และก่อให้เกิดอาการของโรคบาดทะยัก[6][1] เททาโนสปาสมินจะแพร่กระจายผ่านทางระบบน้ำเหลืองและระบบหมุนเวียนเลือดไปทั่วร่างกาย ที่ซึ่งมันจะถูกส่งไปถึงระบบประสาท[6] ในระบบประสาท เททาโนสปาสมินจะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการหลั่งสารยับยั้งสารสื่อประสาท ไกลซีน และ กรมแกมมา-อะมิโนบิวตีริก ที่ปลายของเซลล์ประสาทสั่งการ[5] การยับยั้งนี้นำไปสู่การกระตุ้นของเซลล์ประสาทนิวรอนไปทั่ว ส่งผลให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย[6] โดยทั่วไปการชักเกร็งจะเกิดขึ้นจากส่วนบนของร่างกายและไล่ลงไปส่วนลาาง เริ่มต้นที่ประมาณ 8 วันนับจากการติดเชื้อจากทริสมุสตามด้วยการหดเกร็งที่กล้ามเนื้อท้องและแขนขา[5][6] การหดเกร็งของกล้ามเนื้อนั้นจะดำเนินต่อเป็นเวลาหลายสัปดาห์[6]

ยีนที่ผลิตเททาโนสปาสมินนั้นพบอยู่ภายในพลาสมิดที่มีอยู่ในหลายสายพันธุ์ของ C. tetani ในขณะที่สายพันธุ์ที่ไม่มีพลาสมิดจะไม่สามารถผลิตสารพิษนี้ได้[1][5] ส่วนการทำงานหรือหน้าที่ของเททาโนสปาสมินในสรีรวิทยาของแบคทีเรียนั้นยังคงไม่ทราบ[1]

การรักษาและป้องกัน

C. tetani ไวต่อยาปฏิชีวนะจำนวนหนึ่ง เช่น คลอรามเฟนิคอล, คลินดามัยซิน, เอริธรอมัยซิน, เพนิซิลลินจี และ เททราไซคลิน[3] อย่างไรก็ตาม ความเป็นประโยชน์ของการรักษาการติดเชื้อ C. tetani ด้วยยาปฏิชีวนะยังคงไม่เป็นที่ประจักษ์[1] อาการของบาดทะยักนั้นมักรักษาด้วยเททานัสอิมมูนกลอบิวลินแทนมากกว่า โดยมันจะจับกับเททาโนสปาสมินที่ไหลเวียนในเลือด[6] นอกจากนี้ เบนโซไดอะเซปีน หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อ อาจใช้เพื่อลดการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อ[1]

อันตรายจากการติดเชื้อ C. tetani นั้นโดยทั่วไปสามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนบาดทะยัก อันประกอบด้วยเททาโนสปาสมินที่ถูกยับยั้งการออกฤทธิ์ด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเรียกว่าทอกซอยด์เททานัส (tetanus toxoid)[1] สำหรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมนั้นจะใช้การเลี้ยง C. tetani จำนวนมากในเครื่องหมัก จากนั้นทำให้บริสุทธิ์เหลือเพียงสารพิษและยับยั้งการออกฤทธิ์ในฟอร์มาลดีไฮด์ 40% เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์[1] ทอกซอยด์นั้นโดยทั่วไปจะถูกให้ร่วมกับทอกซอยด์ดิฟธีเรีย และบางรูปแบบของวัคซีนเปอร์ตูสซิส เป็นวัคซีนดีพีที หรือ ดีแทป[6] การให้วัคซีนนั้นมักให้แยกหลายโดสเป็นเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถมีภูมิคุ้มกันต่อสารพิษนี้[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: Clostridium tetani //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12552129 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8609513 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1073859 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC298770 http://www.bacterio.net/clostridium.html#tetani http://textbookofbacteriology.net/clostridia_3.htm... http://www.nzor.org.nz/names/397f6cab-185d-4248-a5... //doi.org/10.1002%2F9781118960608.gbm00619 //doi.org/10.1016%2FB978-012595020-6%2F50003-6 //doi.org/10.1016%2FB978-1-4557-0090-5.00039-2